03 พฤศจิกายน 2552

แนวทางการใช้แหล่งการเรียนรู้สู่สากล

             แนวทางในการนำแหล่งการเรียนรู้มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ผู้บริหารและครูผู้สอน ต้องจัดแหล่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างออกไปสู่ท้องถิ่น ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือต่างจังหวัด เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงให้สถานศึกษา และท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทำให้ผู้เรียนได้รับการปลูกฝังให้รู้และรักท้องถิ่น เข้าใจปัญหาของหมู่บ้านตนเอง เป็นการฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ คิดหลายแง่มุม สรุปองค์ความรู้ที่พร้อมจะมองเห็นคุณค่าของท้องถิ่นบ้านเกิด ปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีค่านิยมด้านคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งสามารถดำเนินการ ได้ดังนี้

1. พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น โดยความร่วมมือของ ครูผู้สอน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งที่พิจารณา คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้และเนื้อหาสาระ ของท้องถิ่นสามารถให้ข้อมูล หลังจากนั้นกำหนดเป็นโครงการ ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ จัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผล

2. แหล่งการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ โดยให้ผู้เรียนฝึกงานที่บ้านหรือ สถานประกอบการของผู้ทรงภูมิในท้องถิ่น หรือถ้าสถานศึกษามีความพร้อม อาจจัดสถานที่จำลองขึ้นในสถานศึกษา โดยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกันให้เพียงพอ ที่สำคัญ คือ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์

3. การถ่ายทอดโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ได้ 3 วิธีดังนี้ คือ

                        3.1 ครูเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะกิจกรรม คือ ครูเป็นตัวแทนผู้ทรงภูมิรู้ในท้องถิ่น ทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยครูผู้สอนได้รับคำปรึกษาหารือ คำแนะนำจากผู้ทรงภูมิในท้องถิ่น

                      3.2 ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้ง ทำหน้าที่ประเมินผลการเรียนด้วย

                      3.3 ภูมิปัญญาท้องถิ่นและครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนโดย ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นถ่ายทอดการปฏิบัติให้กับครูผู้สอน ส่วนครูผู้สอนวางแผนร่วมกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อจากนั้นครูผู้สอนดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่การเตรียมสถานที่ เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์

4. การนำสิ่งที่เป็นความรู้เฉพาะเรื่องมาสอดแทรกในเนื้อหาสาระการเรียนวิชาต่างๆ โดยครูผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับ ประวัติบุคคลสำคัญ ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ มาจัดทำบทเรียนเสริม หรือครูผู้สอนเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นจากแหล่งการเรียนรู้มาสอนผู้เรียน

5. การให้ผู้เรียนไปสำรวจแหล่งการการเรียนรู้โดย มาสรุปจัดทำเป็นเอกสาร เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ต่อไปได้

6. การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยให้ผู้เรียนสำรวจ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว จัดทำเป็นเอกสาร ส่วนสิ่งของที่ได้จากการบริจาค นำมาจัดหมวดหมู่เพื่อให้ผู้เรียนใช้ในการศึกษาค้นคว้า



ไม่มีความคิดเห็น: