หลักสูตรกล่าวถึงความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องส่งเสริมให้พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ทั้งในสถานศึกษาและในท้องถิ่น ให้ครอบคลุมหลักสูตรและกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นสากล ตลอดจนให้มีการกำกับ ติดตามเร่งรัดและประเมินผล การดำเนินงานเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ เป็นระยะ จึงได้กำหนดให้มีการกล่าวถึงแหล่งการเรียนรู้ ไว้ในสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ญ : 3) ดังนี้
1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กล่าวว่า แหล่งการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ได้แก่
1.1 ห้องสมุด เป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นหัวใจสำคัญของสถานศึกษา ที่ผู้เรียนจะใช้ในการศึกษาค้นคว้า ใช้อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การจัดห้องวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา จะทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ จากการเรียน และการใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้มีความสำคัญมากขึ้นในการรับความรู้จากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลในการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.2 ทรัพยากรบุคคล เช่น ผู้ปกครอง คนในท้องถิ่นที่มีความรู้ ภูมิปัญญาด้านภาษาถิ่น เพลงพื้นบ้าน พิธีกรรมต่างๆ ครูภาษาไทยควรจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมา ซึ่งสามารถเชิญมาให้ความรู้ในสถานศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ง : 23-23)
2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กล่าวว่า การเรียนรู้คณิตศาสตร์ในโลก ยุคไร้พรมแดน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะแหล่งการเรียนรู้ได้เปิดกว้าง ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ได้แก่ ห้องเรียน ห้องสมุด สถานศึกษา ศูนย์การเรียน พิพิธภัณฑ์ สมาคม ชุมชน ชมรม ชุมนุม มุมคณิตศาสตร์ สวนคณิตศาสตร์ ห้องกิจกรรมคณิตศาสตร์ หรือห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ รวมถึงบุคคลที่มีความรู้ ทางคณิตศาสตร์ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ข : 29)
3.กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ต้องเสริมสร้างและสนับสนุนให้ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย มิได้จำกัดเฉพาะห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในสถานศึกษา หรือจากหนังสือเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในและนอกสถานศึกษา และท้องถิ่น (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ซ : 45-46) ได้แก่
3.1สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือเรียน หนังสืออ้างอิง หนังสืออ่านประกอบ หนังสือพิมพ์ วารสาร
3.2สื่ออิเลกทรอนิกส์ ได้แก่ มัลติมีเดีย สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) หนังสืออิเลกทรอนิกส์ (e-book)
3.3แหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
3.4แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานวิจัยท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย
ทั้งนี้ในการสอนวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนควรจัดให้แหล่งการเรียนรู้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนา ทั้งด้านความรู้และความคิด ทักษะ กระบวนการ เจตคติ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม จากแหล่งการเรียนรู้เหล่านั้น
4. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม กล่าวไว้ว่า สื่อการเรียนรู้ต้องมีชีวิตชีวา มีสีสันของการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน เครื่องมืออุปกรณ์การเรียน ไปจนถึงอุปกรณ์การสื่อสาร เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ บุคคล ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นการให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นสื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ฉ : 50-51)
5. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละศึกษา กล่าวว่า ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกเวลาทุกสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมถึงจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆที่มีอยู่ในสังคม ท้องถิ่น และอื่นๆ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ช : 20-27)
6. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ กล่าวว่า สามารถแสวงหาความรู้ได้ตลอดเวลา ทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมาย ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตามมาตรฐานของกลุ่มศิลปะได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด (กระทรวงศึกษาธิการ 2545จ : 18)
7. กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กล่าวว่า วิธีการที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถศึกษาหาความรู้ หรือเรียนรู้จากแหล่งความรู้ ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งวิทยาการ สถาบัน องค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน สถานประกอบการ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ก : 32)
8. กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ กล่าวว่า แหล่งการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นครูผู้สอนควรแนะนำให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ในการศึกษาค้นคว้า ฝึกทักษะทางภาษาเพิ่มเติมจากการเรียนในชั้นเรียนได้ด้วยตนเอง แหล่งการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะทางภาษา เช่น ครูผู้สอน เพื่อนร่วมชั้นเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ห้องสมุดสถานศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (All For Education) รายการวิทยุ โทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ สถานที่ทำการของหน่วยงาน สถานที่ท่องเที่ยว สถานทูต การเดินทางไปต่างประเทศ (กระทรวงศึกษาธิการ 2545ค : 26-27)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น