คำว่า ภูมิปัญญา (Wisdom) หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น (Popular Wisdom) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน (Local Wisdom) หรือภูมิปัญญาไทย ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ในท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ในเอกสารนี้ใช้คำว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หมายถึง บุคคล ที่มีความรู้ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรมขององค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น ที่ถ่ายทอด และพัฒนาเลือกสรรปรับปรุง จนเกิดทักษะและความชำนาญ สามารถใช้แก้ไขปัญหาของมนุษย์ และพัฒนาชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย แล้วเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมและสืบทอดพัฒนาต่อมา อย่างไม่มีสิ้นสุด อันเป็นศักยภาพหรือความสามารถ วิธีการ เครื่องมือ เพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาการดำรงชีวิต ให้มีความสงบสุขของครอบครัว บุคคล หรือท้องถิ่นให้อยู่รอดจนถึงปัจจุบันและในเอกสารนี้ ได้จำแนกประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่น ไว้ 6 ประเภท ดังนี้
1.ด้านเกษตรกรรม หมายถึง องค์ความรู้ทางเกษตรหรือบุคคลที่มีความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐาน คุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ต่าง ๆได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการผลิต และรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร
2.ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมเกี่ยวกับการผลิต การบริโภค หมายถึงเทคโนโลยีท้องถิ่นหรือบุคคลที่มีความสามารถในการแปรรูปผลผลิต โดยใช้เทคโนโลยีท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาด้านการถนอมอาหาร การบริโภคอย่างปลอดภัย
3.ด้านศาสนาและประเพณี หมายถึง หลักธรรม คำสอนทางศาสนา ความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าเหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดผลต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม เช่น หลักธรรมทางศาสนา การบวชป่า ประเพณีทำขวัญนา เป็นต้น
4.ด้านศิลปวัฒนธรรม หมายถึง องค์ความรู้หรือบุคคลที่มีผลงานด้านศิลปะสาขาต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม และวัฒนธรรม
5.ด้านการแพทย์แผนไทย หมายถึง องค์ความรู้ที่ใช้ป้องกันและรักษาสุขภาพคนในท้องถิ่น หรือบุคคลที่มีความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพคน ในท้องถิ่น โดยเน้นให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพอนามัยได้
6.ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ท้องถิ่น รวมทั้ง การอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น