การเรียนรู้แบบการศึกษานอกสถานที่ เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้สอนพาผู้เรียนออกไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อแสวงหาคำตอบจากประสบการณ์ตรงและสถานที่จริง โดยมีวิทยากรเป็นผู้ให้ความรู้ การพาผู้เรียนไปนอกสถานที่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านสังคม ให้รู้จักรับผิดชอบต่อชุมชน ต่อตนเอง ส่งเสริมการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เร้าความสนใจให้แก่ผู้เรียน การศึกษานอกสถานที่ถือเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่ามาก เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ เพราะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ตรง สามารถเกิดเจตคติที่พึงประสงค์ ปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักหวงแหน ภาคภูมิใจ รักและห่วงใยต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดได้ยากหากผู้เรียนเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน
แนวทางการจัดการเรียนรู้ โดยการศึกษานอกสถานที่มีวิธีการปฏิบัติและขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นวางโครงการ
1.1 กำหนดสถานที่พาผู้เรียนไปศึกษา ต้องเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับประเด็นที่จะเรียนรู้
1.2 ผู้สอนต้องสำรวจสถานที่ ที่จะไปเสียก่อน ซึ่งบางครั้งแหล่งที่กำหนดอาจมีปัญหาและไม่พร้อมที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาได้
2. ขั้นตั้งจุดประสงค์ของโครงการ
จุดมุ่งหมายของการไปศึกษานอกสถานที่ ต้องก่อให้เกิดคุณค่าทางวิชาการ ในการกำหนดจุดมุ่งหมาย ผู้สอนต้องคำนึงถึงความสำคัญและความจำเป็น ต้องการไปศึกษาเรื่องอะไร สภาพแวดล้อมเหมาะสมหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระที่เรียนจริงหรือไม่ พร้อมทั้งกำหนดสิ่งที่จะศึกษาหาความรู้ให้ชัดเจน
3. ขั้นเตรียมการ
3.1 ผู้สอนเสนอโครงการเป็นขั้นตอน ตามระเบียบว่าด้วยการพานักเรียนไปทัศนศึกษา และขออนุญาตผู้ปกครองเพื่อให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรม
3.2 ผู้สอนแจ้งเจ้าของสถานที่ ขอความร่วมมือและเชิญวิทยากร เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เรียน
3.3 ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันร่างกฎระเบียบการไปศึกษานอกสถานที่
3.4 ผู้สอนจัดปฐมนิเทศเกี่ยวกับการเตรียมตัว แจ้งกำหนดการแต่งกาย ความประพฤติ ความปลอดภัยในการเดินทางและการปฏิบัติตนเป็นนักทัศนศึกษาที่ดี
3.5 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม ทุกกลุ่มต้องมีประธานกลุ่มและเลขานุการกลุ่ม
3.6 ให้แต่ละกลุ่มรับคู่มือศึกษาและบทปฏิบัติกิจกรรมเพื่อร่วมกันวางแผนศึกษา หาความรู้จากวิทยากร
4. ขั้นเดินทางชมสถานที่
4.1 ออกเดินทางตามกำหนดนัดหมาย เน้นการตรงต่อเวลา เมื่อถึง แหล่งที่ศึกษาควรพาผู้เรียนไปรู้จักเจ้าของสถานที่เสียก่อน
4.2 ผู้เรียนศึกษาหาความรู้จากการบรรยายของวิทยากร พร้อมทั้งการซักถาม สังเกต จดบันทึก ถ่ายภาพ หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้รับความรู้และประสบการณ์มากที่สุด
5. ขั้นประเมินผล
ระยะที่ 1 อภิปรายผล
1) หลังกลับจากศึกษานอกสถานที่แล้วให้ผู้เรียนอภิปรายกลุ่มย่อยจากเรื่องที่กำหนดไว้ ในบทปฏิบัติกิจกรรมนำเสนอผลการอภิปรายในกลุ่มใหญ่
2) ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสรุปผลที่ได้จากการศึกษานอกสถานที่
3) ประเมินผลจากการอภิปราย และแบบฝึกปฏิบัติกิจกรรม
4) จัดนิทรรศการภาพถ่ายการปฏิบัติกิจกรรมจากการทัศนศึกษา
ระยะที่ 2 ประเมินผลโครงการเสนอต่อผู้บริหารสถานศึกษา
1) ผู้สอนสรุปผลจากการศึกษานอกสถานที่
2) ผู้สอนเสนอปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการศึกษานอกสถานที่
1. ต้องเตรียมการล่วงหน้าในด้านค่าใช้จ่าย ผู้สอนควรให้ผู้เรียนเก็บออมล่วงหน้า อาจใช้วิธีให้ผู้สอนเป็นผู้รับฝากตามศักยภาพของผู้เรียน วิธีการเช่นนี้เมื่อถึงเวลาทัศนศึกษา ผู้เรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ อีกทั้งยังช่วยฝึกคุณลักษณะนิสัยในการประหยัดเก็บออมได้อีกด้วย
2. ควรเน้นในเรื่องความมีวินัยในหมู่คณะและการเชื่อฟังผู้ควบคุม ทั้งนี้เพื่อ ความปลอดภัยของผู้เรียน
ข้อดีของการศึกษานอกสถานที่
1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง โดยผ่านประสาทสัมผัสหลายด้าน และเชื่อมโยงประสบการณ์ตรงกับความรู้สึกที่ได้เรียนในห้องเรียน
2. สอดคล้องกับความสนใจและเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น
ข้อพึงปฏิบัติในการศึกษาธรรมชาติ
1. ควรเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางไปให้รอบคอบ เรียบร้อย เช่น กำหนดการเดินทาง เสบียงอาหาร ยาประจำตัว เครื่องใช้ที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ ไม่ควรนำสิ่งของมีค่าติดตัวไป
2. ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น
3. ต้องช่วยกันอนุรักษ์แหล่งที่ไปทัศนศึกษา เช่น ไม่ขีดเขียนตามสถานที่ต่างๆ ไม่งัดแงะแกะทำลายสิ่งสวยงาม ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด
4. ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
5. ระมัดระวังกิริยามารยาท มิให้เป็นการขาดสัมมาคารวะต่อปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ หรือรบกวนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
6. ในการเดินทางเป็นหมู่คณะควรรักษาความสามัคคี และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
7. ควรไตร่ตรองเวลาและกำหนดนัดหมาย กรณีที่มีความจำเป็นอาจจะยืดหยุ่นได้ตามสมควร
8. ปฏิบัติตามระเบียบของกลุ่ม และของสถานที่ที่ทัศนศึกษา
9. ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างการเดินทาง
10. ควรระมัดระวังความปลอดภัยตลอดเวลา ทั้งของตนเองและเพื่อน เช่น ไม่ควรลงจากรถก่อนที่รถจะจอดสนิท ไม่ควรเล่น หรือผลักกันบนรถ
11. ควรระมัดระวังความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม
12. ระมัดระวังความประพฤติของกลุ่ม เพราะอาจส่งผลถึงการทัศนศึกษา ครั้งต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น