การจัดการเรียนการเรียนรู้เน้นให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และ ต้องจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แหล่งการเรียนรู้จึงมีบทบาทสำคัญต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยเน้นให้ใช้แหล่งการเรียนรู้ใกล้ตัวที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ เชื่อมโยงกับสังคมโลกปัจจุบันที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน การใช้สื่อประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาท ในสถานศึกษาด้วย
การพัฒนาห้องสมุดสถานศึกษาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ห้องสมุดสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของผู้สอนและผู้เรียนเพราะเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บและให้บริการวัสดุสารนิเทศ ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จำเป็นต่อครู อาจารย์ และผู้เรียน ในสถานศึกษา เป็นแหล่งที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ได้มาศึกษาหาความรู้ เรียนรู้วิทยาการต่างๆได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ต้องพัฒนาให้เกิดแก่ผู้เรียนและเยาวชนของชาติ
ห้องสมุดในอดีตเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้า จึงเรียกว่าห้องสมุด แต่ปัจจุบันได้รวมสื่ออื่นๆไว้ด้วย จึงมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ห้องสมุด สำนักหอสมุด สำนักวิทยบริการ สถาบันบริการสารนิเทศ สำนักบรรณสารนิเทศ สำนักบรรณสารสนเทศห้องสมุดอัตโนมัติ (Automated Library) ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Library) ห้องสมุดเสมือน (Virtual Library) ห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library) เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาจากห้องสมุดตามความหมายเดิมซึ่งรวบรวมหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และคอยให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการเท่านั้น โดยเปลี่ยนแปลงเป็นห้องสมุด ที่มีสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น สไลด์ เทป วิดิทัศน์ แผ่นซีดี วีซีดี หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือมัลติมีเดีย อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ดังนั้นห้องสมุดของสถานศึกษาควรเป็นศูนย์การเรียนรู้โดยเป็นที่รวมของทรัพยากรสารนิเทศทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และสิ่งไม่ตีพิมพ์หรือวัสดุสื่อโสตทัศน์ และในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมอิเล็กทรอนิกส์ สถานศึกษาควรดำเนินการพัฒนาห้องสมุดให้มีบทบาทเหมาะสมกับสภาพของสังคมปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทย มีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังเป็นสื่อหลักของห้องสมุด ดังนั้นควรจัดหาสื่อประเภทไม่ตีพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น