03 พฤศจิกายน 2552

การเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นสู่สากล

               การเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นมีความสำคัญ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริง ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ครอบครัว สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดราชบุรี เป็นท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เชื่อว่ามีผู้คนมาอยู่ตั้งแต่ยุคหินกลาง ประมาณ 10,000 มาแล้ว แต่หลักฐาน การสร้างบ้านแปลงเมืองปรากฏหลักฐานแน่ชัดในสมัยทวารวดี ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี และสันนิษฐานว่าเมืองราชบุรี บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ปรากฏหลักฐาน การตั้งเมือง ท่าเรือสินค้า สำเภาจากต่างประเทศ มีพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นประธานอยู่กลางเมือง ในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช และ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ยกกองทัพรับศึกพม่าในจังหวัดราชบุรี หลายครั้ง ต่อมาในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองอันเป็นที่ตั้งของกรมการทหารช่าง ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมเมืองราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี ตั้งศาลา ว่าการมณฑลที่เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันคืออาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี เมื่อมณฑลราชบุรีถูกยกเลิกและเมืองราชบุรีมีฐานะเป็นจังหวัดจวบจนปัจจุบัน นอกจากนั้นจังหวัดราชบุรีเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ยังมี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี หลากหลายอันเกิดจากชน 8 ชาติพันธุ์ ก่อเกิดอาชีพเพาะปลูก ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์จากในป่า ไปยังเมืองหลวง จนกระทั่งปัจจุบันเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยผลผลิต ทางการเกษตร อุตสาหกรรมโอ่งมังกร สิ่งทอและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ

               จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น ของจังหวัดราชบุรี สามารถสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถนำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนเกิดสัมฤทธิ์ผลบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวว่า การจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรมแล้ว ยังจะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงของตนเองในท้องถิ่น เรียนรู้ สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมา สภาพของท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนให้มีความรัก ความผูกพัน และมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น: